กรุงเทพฯ 4 ธันวาคม 2561 – สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ร่วมมือกับสถาบัน World Sushi Skills Institute (WSSI) จัดการแข่งขันGlobal Sushi Academy Competition ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย พร้อมประกาศมอบรางวัลชนะเลิศให้กับ นาย พุฒิพงศ์ วิชาชัย เชฟซูชิ อายุ 29 ปี ประจำร้านอาหารญี่ปุ่น ‘อุมิ’ ผู้มีประสบการณ์ทำงาน 10 ปี จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 21 คน การแข่งขันได้รับเกียรติจาก นาย ชิโระ ซาโดชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ นาง แชสตี เริดส์มูน ว่าที่เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย ร่วมมอบรางวัลให้กับผู้ชนะ โดย สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ จะสนับสนุนผู้ชนะเป็นตัวแทนคนแรกจากประเทศไทยในการเข้าชิงแชมป์ World Sushi Cup tournament ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 การแข่งขัน Global Sushi Academy Competition ครั้งนี้ จัดขึ้นที่โรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการ คูลิเนอร์ ที่ชั้น 7 เอ็มโพเรียม ทาวเวอร์
การแข่งขัน Global Sushi Academy นำสุดยอดเชฟซูชิจากทั่วประเทศไทยมาประลองฝีมือการทำซูชิญี่ปุ่นสไตล์เอโดะมาเอะ (Edomae Sushi) โดยใช้วัตถุดิบชูโรงเป็นแซลมอนจากนอร์เวย์ ที่ได้รับความนิยมกว้างขวางทั่วโลก การแข่งขันกำหนดให้ผู้ท้าชิงรังสรรค์เมนูซูชิ ซึ่งต้องประกอบด้วยซูชิมากกว่า 35 ชิ้น แต่ไม่เกิน 45ชิ้น โดยกรรมการจะตัดสินผู้ชนะจากสุขอนามัยในการทำซูชิ เทคนิคการเตรียมวัตถุดิบ ทักษะการทำซูชิ และการตัดใบไผ่สำหรับประดับตกแต่ง การแข่งขันครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นาย ฮิโรโตชิ โอกาว่า ผู้อำนวยการใหญ่ สถาบัน World Sushi Skills Institute (WSSI) และอาจารย์ประจำสมาพันธ์ All Japan Sushi Association เป็นผู้ให้การอบรม ตัดสินผลงาน และมอบประกาศนียบัตรจากสมาพันธ์ All Japan Sushi Association ให้เชฟผู้ที่ผ่านการสอบข้อเขียน เป็นการรับรองฝีมือจากสถาบัน WSSIนาย จอน อิริค สทีนสลิด ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ กล่าวว่า“ผู้ชนะในการแข่งขันมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ปัจจัยที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือการที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนมีความตั้งใจและทุ่มเทให้กับการอบรมและแข่งขันครั้งนี้ ผมหวังว่าพวกเขาจะแบ่งปันความรู้และทักษะที่ได้รับให้เหล่าเชฟซูชิในวงการ การที่แซลมอนนอร์เวย์ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ จึงมีพันธกิจในการให้ความรู้และวิธีการทำอาหารทะเลที่ถูกต้องและถูกสุขอนามัยกับเชฟในประเทศไทย”นาย ฮิโรโตชิ โอกาว่า ผู้อำนวยการใหญ่ สถาบัน World Sushi Skills Institute และอาจารย์ประจำสมาพันธ์ All Japan Sushi Association กล่าวว่า“ผมเข้มงวดกับผู้เข้าแข่งขันทุกคนมาก เพราะเราใช้ปลาดิบในการเตรียมอาหาร และในฐานะเชฟซูชิ ความสะอาดของอาหารต้องมาก่อนเทคนิคการทำหรือการตกแต่งซูชิ และผมเชื่อมั่นว่าในการทำอาหาร เชฟซูชิทุกคนควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นอันดับแรก”
นาย พุฒิพงศ์ วิชาชัย เชฟซูชิ ประจำร้านอาหารญี่ปุ่น ‘อุมิ’ กล่าวว่า“จากการร่วมเข้าแข่งขันศึก Global Sushi Academy ผมได้เรียนรู้ทักษะอันมีประโยชน์ต่างๆ เช่นการเก็บรักษาวัตถุดิบอย่างถูกสุขอนามัย และตั้งใจจะแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ให้กับเหล่าเชฟในร้านอาหารอุมิ ผมไม่คิดว่าจะคว้าชัยชนะมาได้ในวันนี้ เพราะผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ล้วนแข่งขันอย่างตั้งใจ สำหรับศึกระดับโลกที่กรุงโตเกียวปีหน้านั้น ผมจะทำให้เต็มที่ ในฐานะตัวแทนเชฟจากประเทศไทยครับ”
สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ ผู้ประกาศให้การสนับสนุน นาย พุฒิพงศ์ วิชาชัย เชฟซูชิ ประจำร้านอาหารญี่ปุ่น ‘อุมิ’ เพื่อร่วมการแข่งขัน World Sushi Cup ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำงานร่วมกับ WSSI ซึ่งเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นภายใต้สมาพันธ์ All Japan Sushi Association – องค์กรที่ให้ความรู้ในการทำซูชิอย่างเป็นทางการแห่งเดียวของญี่ปุ่น – โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความรู้และทักษะในการเตรียมอาหารทะเลอย่างถูกสุขอนามัย ผ่านศิลปะการทำซูชิแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ด้านสถาบัน WSSI มีพันธกิจในการให้ความรู้และสอนทักษะการทำซูชิอย่างถูกสุขอนามัย กับเชฟซูชิที่ไม่มีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการประกอบอาหารด้วยปลาดิบ ในขณะที่ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ เล็งเห็นความสำคัญของเชฟซูชิในประเทศไทย ในฐานะที่ไทยเป็นผู้นำเข้าแซลมอนจากนอร์เวย์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความนิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่นแบบร่วมสมัยอยู่มาก นอร์เวย์มีชื่อเสียงในการผลิตอาหารทะเลที่มีความปลอดภัยสูง จากการเพาะเลี้ยงในน้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาด โดยได้นำแซลมอนคุณภาพเยี่ยมเข้าไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในช่วงกลางปีพ.ศ. 2523-2532ทำให้ซูชิแซลมอนและซาชิมิแซลมอนกลายเป็นอาหารขึ้นชื่อของญี่ปุ่นนับแต่นั้นมา
การแข่งขันชิงแชมป์ระดับโลก World Sushi Cup ที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 2562 จะประกอบด้วยการศึกษาภาคทฤษฎี การฝึกภาคปฏิบัติ การสอบข้อเขียน รวมไปถึงการแข่งขันประลองฝีมือการทำซูชิญี่ปุ่นสไตล์เอโดะมาเอะ (Edomae Sushi) โดยในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ผู้แข่งขันจะต้องรังสรรค์เมนูซูชิด้วยศาสตร์และศิลป์ชั้นเยี่ยมที่สุด World Sushi Cup จัดขึ้นเพื่อให้ความสำคัญกับเชฟซูชิทั่วโลก และการแข่งขันอันแสนท้าทายนี้นับเป็นการพิสูจน์ความสามารถของเชฟผู้ชนะ และช่วยผลักดันให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างการแข่งขัน Global Sushi Academy Competition ถือเป็นก้าวสำคัญของตัวแทนเชฟจากไทย ในการร่วมประชันฝีมือในสังเวียนระดับโลก และถือเป็นการที่ไทยเริ่มให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านอาหารและศิลปะการทำซูชิในระดับนานาชาติ ด้วยการสนับสนุนของ NSC และสถาบัน WSSI ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะส่งเสริมการรับประทานปลาดิบยอดนิยม ไปพร้อมกับการสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยของอาหารให้กับผู้บริโภค