ไขปัญหาลูกกินยาก ทำอย่างไร?

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr +

กรุงเทพฯ 9 มีนาคม 2564 –  คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะเคยประสบปัญหาหนักใจ เพราะทำอย่างไรลูกก็ไม่ยอมกินข้าว หรือเลือกรับประทานแต่อาหารแบบเดิมๆ ที่เจ้าตัวชอบ โดยเฉพาะในประเทศไทย 35.5% ของคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอายุระหว่าง 1-3 ปี และกว่า 40.6% ของคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอายุระหว่าง 3-5 ปี กำลังเผชิญกับปัญหาลูกเป็นเด็กเลือกรับประทาน จึงอดรู้สึกกังวลไม่ได้ว่าลูกน้อยจะโตขึ้นเป็นเด็กกินยากและไม่แข็งแรงเนื่องจากไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน

วันนี้เรามี 5 เทคนิค ช่วยคุณพ่อคุณแม่รับมือกับมื้ออาหารอันแสนวุ่นวายของเจ้าตัวเล็ก แถมยังเปลี่ยนลูกน้อยช่างเลือกให้เป็นเด็กกินง่าย รับประทานอาหารได้หลากหลาย มีสุขภาพดี และที่สำคัญรสชาติอร่อยจนรู้สึกติดอกติดใจ

  1. เพิ่มเวลาหิว

งดของกินเล่นเกินควรก่อนมื้ออาหาร ไม่ว่าจะเป็น ขนม นม หรือ น้ำผลไม้ เพราะจะทำให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกอิ่มท้องจนไม่อยากกินข้าว โดยมื้อหลักและมื้ออาหารว่างควรเว้นห่างกันประมาณ 2-3 ชั่วโมง ทริคง่าย ๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ คือควรกำหนดเวลากินให้เป็นกิจลักษณะ มีเวลาระหว่างมื้ออาหารมากพอ  เพื่อช่วยสร้างวินัยและเลิกนิสัยกินจุกจิก กินไม่เป็นมื้อ เพื่อทำให้พอถึงเวลาอาหาร เจ้าตัวเล็กจะได้รับประทานได้อย่างเต็มที่และเอร็ดอร่อยกับฝีมือของคุณพ่อคุณแม่

  1. สร้างบรรยากาศที่ดีในการกิน

หากเจ้าตัวแสบงอแงไม่ยอมกินอาหารที่ไม่ใช่ของโปรดหรือรสชาติไม่ถูกใจ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรตำหนิลูกอย่างรุนแรงบนโต๊ะอาหาร หรือตักอาหารจ่อปากบังคับให้รับประทาน เพราะจะเป็นการสร้างความทรงจำที่ไม่ดีระหว่างมื้ออาหาร จนทำให้ห้องครัวหรือโต๊ะกินข้าวกลายเป็นสถานที่ที่น่ากลัว อย่าลืมว่าความสุขในการรับประทานอาหารของเจ้าตัวเล็กเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีในการกิน เพื่อให้ลูกคิดว่ามื้ออาหารเป็นช่วงเวลาแห่งครอบครัวที่ผ่อนคลายและมีความสุข เด็กจะได้อยากกินข้าว และเมื่ออารมณ์ดีแล้วทุกคนอาจจะรู้สึกว่าอาหารตรงหน้าอร่อยขึ้นเป็นเท่าตัว

  1. ให้ลูกมีส่วนร่วมตั้งแต่การเตรียมอาหาร

หน้าที่ของเด็ก ๆ ไม่ใช่เพียงแต่การนั่งรอกินเสมอไป คุณพ่อคุณแม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้ ด้วยการลองชักชวนเจ้าตัวเล็กมาช่วยกันเตรียมอาหารแทนที่จะให้ลูกนั่งดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมรอ โดยอาจเริ่มจากพาไปเดินเลือกวัตถุดิบและลองให้เขามีส่วนร่วมในการปรุงอาหาร เพราะเด็กในวัยเรียนรู้จะอยากรู้อยากเห็นและอยากลองเลือกวัตถุดิบที่ไม่คุ้นหน้าคุ้นตาด้วยตัวเอง วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเปิดใจลองชิมอาหารที่เจ้าตัวมีส่วนร่วมปรุงด้วย เด็กจะรู้สึกภูมิใจและอาจส่งเสริมให้กลายเป็นพ่อครัวแม่ครัวในอนาคตก็เป็นได้

  1. จูงใจด้วยเมนูแปลกใหม่ ไม่จำเจ

ลองสำรวจภายในตู้เย็นที่บ้านหรือเมนูที่คิดไว้ในใจดูว่าคล้ายกันหรือซ้ำซากเกินไปรึเปล่า เพราะบางครั้งการไม่อยากอาหารหรือการเลือกกินของลูก อาจจะมาจากความเบื่อหน่ายกับเมนูและรสชาติเดิม ๆ ที่กินในทุกวัน คุณพ่อคุณแม่ลองรังสรรค์เมนูที่ผสมผสานระหว่างของโปรดและของที่เจ้าตัวน้อยไม่ชอบเข้าด้วยกัน ปรับเปลี่ยนให้มีสีสันน่ารับประทาน หรือหากพอมีทักษะด้านศิลปะเสียหน่อย คุณพ่อคุณแม่อาจลองตกแต่งจานเป็นรูปตัวการ์ตูนที่ชอบ หรือทำให้อาหารมีรูปร่างหน้าตาแปลกใหม่ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความสนใจของเด็ก ๆ แล้วคุณจะพบว่าจริง ๆ แล้วเขาอาจจะไม่ใช่เด็กเลือกกินอย่างที่คิด แต่แค่ขี้เบื่อเท่านั้นเอง

  1. ใช้ตัวช่วยแสนอร่อย

ถ้าเทคนิคที่บอกมาข้างต้นยังไม่เพียงพอให้ลูกน้อยที่เบนหน้าหนีหันกลับมามองจานข้าวและรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยแล้วละก็ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องลองใช้เครื่องปรุงพิเศษที่ช่วยเพิ่มรสอูมามิ หรือที่รู้จักกันว่า “รสชาติที่ 5” ให้กับเมนูอาหารในแต่ละมื้อ ซึ่งความเชื่อที่ว่าผงชูรสเป็นอันตรายต่อร่างกายนั้นอาจจะไม่จริงเสมอไป จากข้อมูลของสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้พิสูจน์แล้วว่า ผงชูรสมีความปลอดภัย และมีค่าโซเดียมน้อยกว่าเกลือแกงถึง 2 ใน 3 ดังนั้นการเติมผงชูรส หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่ากลูตาเมต ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติและพบได้ในวัตถุดิบหลากหลายชนิดที่รับประทานกันอยู่ทุกวัน รวมถึงอาหารที่ผ่านการ บ่ม หรือหมัก เช่น ชีส ซอสถั่วเหลือง กะปิ น้ำปลา รวมถึงการ มะเขือเทศ และเห็ด อาจเป็นการช่วยลดปริมาณโซเดียมในร่างกายของเจ้าตัวเล็ก รวมถึงทำให้เมนูอาหารทั้งใหม่และเก่ามีความน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น แถมยังได้รับสารอาหารครบถ้วน และปัญหาที่ต้องคะยั้นคะยอให้ลูกน้อยยอมกินข้าวอาจหมดไปโดยไม่รู้ตัว

รู้เทคนิคดีๆ อย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่คงไม่รอช้ารีบนำไปลองปฏิบัติกันเลย แต่อย่าลืมว่าอาหารที่มีประโยชน์ควรควบคู่มากับความอร่อย ดังนั้นรสชาติอาหารที่ถูกปากจากเคล็ดลับและฝีมือของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้ลูกมีความทรงจำที่ดีกับอาหาร มีแรงกายแข็งแรงสมวัย และจะไม่เป็นเด็กกินยากอย่างแน่นอน

 

###

อ่านต่อ
Share.

Comments are closed.