มูลนิธิแอ็พคอมตั้งกองทุน #CoronaAPCOMpassion สู้โควิด-19

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr +

กรุงเทพฯ 29 เมษายน 2563 – มูลนิธิแอ็พคอม (APCOM Foundation) ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนที่ทำงานด้านเอชไอวี (HIV) และกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) ชั้นนำในภูมิภาค ขอเชิญทุกท่านร่วมบริจาคสนับสนุนกองทุน #CoronaAPCOMpassion ที่เริ่มต้นจากเงินของเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เพื่อเยียวยากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ในช่วงเวลาที่โรคระบาดส่งผลให้เกิดความหวาดกลัว ความเครียด และความไม่แน่นอนในสังคมเป็นวงกว้าง มูลนิธิฯ เชื่อมั่นในการเผชิญสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความรัก ความมีน้ำใจ และความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ จึงมุ่งสร้างความเข้มแข็งในเครือข่ายเพื่อสร้างการยอมรับ พร้อมสร้างสังคมที่ปลอดภัยแก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตามปณิธานที่เรายึดมั่นว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

#CoronaAPCOMpassion ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ชื่อของกองทุนเยียวยาที่ก่อตั้งโดยเจ้าหน้าที่แอ็พคอม เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโรคโควิด-19 เท่านั้น แฮชแท็กดังกล่าวยังเป็นชื่อแคมเปญเพื่อกระตุ้นการระดมทุนจากกลุ่มผู้มีความปรารถนาดีและมีความพร้อมทางทุนทรัพย์ที่ต้องการช่วยเหลือสังคมแต่อาจถูกจำกัดจากปัจจัยทางกายภาพ เช่น นโยบายการปิดเมือง หรือการเคอร์ฟิว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิแอ็พคอมเปิดตัว The COVID-19 Special Series ข้อมูลเชิงสำรวจที่นำเสนอและถ่ายทอดเรื่องราวความยากลำบากขององค์กรชุมชนและสมาชิกในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายของรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทุกองค์กรชุมชนที่ทำงานกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต่างพยายามหาวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโรคทั้งเชิงรุกและเชิงรับแก่เจ้าหน้าที่ ผู้รับบริการ และเครือข่าย ด้วยงบประมาณที่จำกัดอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ชุมชนยังคงลงพื้นที่ให้บริการแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้รับเงินสนับสนุนใด ๆ ทั้งนี้ ผู้ให้บริการทางเพศ ผู้ใช้สารเสพติด ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีแค่ค่าจ้างรายวันในการประทังชีวิตตนเองและคนในครอบครัวต่างต้องเผชิญวิกฤติทางการเงินโดยไม่มีสัญญาณว่าจะได้รับความช่วยเหลือใดจากรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสภาวะที่ขาดการยอมรับจากสังคม ทั้งยังโดนตีตราจากรัฐว่าพวกเขาเป็นอาชญากร ผู้กระทำผิดกฎหมาย จึงทำให้เกิดการกีดกันแบ่งแยกพวกเขาจากสังคมมาโดยตลอด

มูลนิธิแอ็พคอมได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ ของฮ่องกงเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี โดยทางมูลินิธิฯ ได้กล่าวว่ามันไม่ง่ายเลยที่กลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องต้องมาใช้ชีวิตในสังคมที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น รวมทั้งเรื่องของการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้าน มันเป็นความท้าทายในการทำงานของพวกเราอย่างมากที่จะผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกันโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ล่าสุดมูลนิธิแอ็พคอมและมูลนิธิเดอะพอสโฮมเซ็นเตอร์ (The Poz Home Center Foundation) ที่ทำงานช่วยเหลือกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ได้ส่งหนังสือเชิญเครือข่ายที่ทำงานด้านประเด็นสุขภาพเอชไอวี/เอดส์ และกลุ่มความหลากหลายทางเพศในประเทศมาประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือปัญหาช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 การส่งต่อข่าวสารที่จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชน LGBTIQ กลุ่มทำงานด้านเอชไอวี/เอดส์และเพื่อหาช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาและสนับสนุนสมาชิกในชุมชนเอชไอวี/เอดส์ และกลุ่มความหลากหลายทางเพศอย่างเสมอภาค

เจ้าหน้าที่มูลนิธิแอ็พคอมพร้อมใจกันสละเงินเดือนส่วนหนึ่งของตนเพื่อตั้งกองทุน #CoronaAPCOMpassion โดยจะนำไปช่วยเหลือองค์กรชุมชนและสมาชิกที่ได้ตอบแบบสอบถามความต้องการการช่วยเหลือจากผลกระทบของโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน นอกจากนี้จะนำไปสมทบกับเครือข่ายเพื่อจัดซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ อาหาร ยา หรือสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ ตามความจำเป็นในช่วงระหว่างและหลังมาตรการปิดเมืองนี้ มูลนิธิฯ จึงมีความประสงค์ที่จะได้รับการสนับสนุนและการบริจาคจากทุกท่าน

นายมิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ็พคอม กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาหลายปีที่มูลนิธิแอ็พคอมมุ่งมั่นทำงานเพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เราไม่เพียงสร้างความร่วมมือในระดับผู้นำและผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังสร้างสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับองค์กรชุมชนจำนวนมาก มูลนิธิฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากองทุน #CoronaAPCOMpassion จะช่วยเยียวยาและสนับสนุนชุมชนเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ และจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ทุกคนว่าเราจะสามารถผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกันโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

อ่านต่อ
Share.

Comments are closed.