KTIS พร้อมเดินหน้าไบโอคอมเพล็กซ์เฟสที่ 1ผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อยโดยตรงวันละ 6 แสนลิตร

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr +

กลุ่ม KTIS พร้อมลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์เฟสที่ 1 เนื่องจากรัฐได้มีความชัดเจนเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว เผยเงินลงทุนเฟสแรก 8,000 ล้านบาท จาก KTIS และ GGCฝ่ายละครึ่ง เตรียมที่ดินรองรับ 2,000 ไร่ ที่จังหวัดนครสวรรค์ ใช้ในเฟสแรก 1,000 ไร่ หีบอ้อย 2.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำน้ำอ้อยผลิตเป็นเอทานอลโดยตรง กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน ก่อนที่จะต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องชีวเคมีและชีวผลิตภัณฑ์ในเฟสที่ 2 ต่อไป ชี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในพื้นที่และภาพรวมของประเทศ เพราะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น

                นายณัฎฐปัญญ์  ศิริวิริยะกุล  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ (Biocomplex) ที่จะตั้งขึ้นใกล้ๆ กับเคทิสคอมเพล็กซ์ (KTIS Complex) ที่จังหวัดนครสวรรค์ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมขั้นสุดท้ายแล้ว อีกทั้งรัฐได้มีความชัดเจนของการแก้ไขระเบียบการตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้นอกเหนือจากน้ำตาลทราย

                ทั้งนี้ การลงทุนในเฟสแรก ซึ่งใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยผู้ร่วมลงทุน 2 ฝ่ายคือ KTIS และ GGC (บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล) ลงทุนฝ่ายละเท่าๆ กัน คือร้อยละ 50 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี หลังจากได้รับอนุมัติการลงทุน โดย KTIS ซึ่งรับผิดชอบด้านวัตถุดิบคืออ้อย จะต้องสร้างอ้อยขึ้นใหม่โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออ้อยที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลอยู่เดิม

                “การลงทุนในเฟสที่ 1 นี้ ยังรวมถึงการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับโครงการในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 ด้วย โดยพื้นที่โครงการรวมทั้งหมดประมาณ 2,000 ไร่ ใช้สำหรับเฟส 1 ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งการตั้งโครงการในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เพราะเป็นแหล่งศูนย์กลางวัตถุดิบหลักคืออ้อย อีกทั้งยังไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ทำให้มีความสะดวกในการขนส่งผลิตภัณฑ์ทั้งเอทานอลในเฟสที่ 1 และเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพต่างๆ ในเฟสที่ 2” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว

                นายณัฎฐปัญญ์  กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ออกมานั้นยังเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างต่ำ โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งอยู่ภายใต้แนวนโยบายการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต่อยอดที่มีมูลค่าสูงขึ้น จะส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้นด้วย รายได้ของเกษตรกรก็จะสูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนใกล้เคียงก็จะมีเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น

                “กลุ่ม KTIS สามารถทำโครงการใหญ่ระดับโลกเช่นนี้ได้ เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ทำให้ไม่มีปัญหาในการสร้างอ้อยเพิ่มเติม รวมถึงการอยู่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมาเป็นเวลานาน มีประสบการณ์อย่างดีในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งการผลิตเอทานอล และไฟฟ้า ส่วนพันธมิตรอย่าง GGC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ก็มีความแข็งแกร่งทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต และการตลาด จึงช่วยเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี”  นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

อ่านต่อ
Share.

Comments are closed.