28 สิงหาคม 2562 – วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขมาอย่างยาวนาน และประเทศไทยถูกจัดให้เป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง ทั้งวัณโรค (TB) วัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย (TB/HVI) และ วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) องค์การอนามัยโลกประมาณการในปีพ.ศ. 2560 ว่าประเทศไทยมีอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำ 108,000 ราย ต่อปี นอกจากนี้ คนไทย 20 ล้าน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทย มีเชื้อวัณโรคแฝงที่ไม่แพร่กระจาย ขณะที่ประเทศไทยได้กำหนดแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค 2560-2564 เพื่อลดอุบัติการณ์วัณโรคให้เหลือ 88 คน ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปีพ.ศ. 2564 และมีเป้าหมายมีลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่เหลือ 10 ต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2578 แม้สถิติจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ต่อปีจะสูง แต่อุบัติการณ์ลดลงทุกปี หากทุกฝ่ายร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประประชาชน จะช่วยให้คนไทยห่างไกลจากวัณโรคได้ไม่ยาก เพราะแม้วัณโรคจะเป็นโรคติดต่อร้ายแรงก็สามารถรักษาให้หายขาดได้
สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค และ กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องวัณโรคสำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจ ลดการรังเกียจหรือการตีตราผู้ป่วยวัณโรคและครอบครัวผู้ป่วยโดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง การคัดกรองวัณโรคปอด การให้ความรู้เรื่องวัณโรค การคัดกรองและให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพของโรค ไม่ติดต่อที่สำคัญ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ณ ห้องประชุม อาคาร 5 สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ฯ
ศาสตราจารย์เกียรติยศนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ ประธานคณะกรรมการกลาง สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชปรารภเมื่อปี พ.ศ. 2489 ว่า ประเทศไทยต้องมีสมาคมปราบวัณโรค ซึ่งในขณะนั้น เรามีบทบาทในการรักษาประชาชนด้วย พอมีหน่วยงานสาธารณสุขเข้ามาช่วยดูแล สมาคมฯ จึงมีบทบาทดำเนินการและสนับสนุนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์และองค์การอื่น และประชาชนเพื่อป้องกันรักษา เผยแพร่ความรู้และสนับสนุนร่วมมือเพื่อควบคุมและกำจัดวัณโรค”
แพทย์หญิง ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรค กล่าวว่า “วัณโรคเป็นโรคที่ติดเชื้อทางอากาศ จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูงมาก ดังนั้นทุกฝ่ายจึงได้ร่วมมือกันเพื่อให้ประเทศไทยไม่ติด 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง ด้วยกลยุทธ์ค้นให้พบ จบด้วยยา นำคนไข้มารักษาคู่ไปกับค้นหาผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคแฝง คือผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แพร่กระจายสามารถรับยาป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรคได้ในอนาคต”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ อรรถ นานา นายกกรรมการบริหาร สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าววว่า “ผู้ติดเชื้อวัณโรคคือคนที่ได้รับเชื้อในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ส่วนใหญ่ไม่ออกอาการ แต่เมื่อภูมิต้านทานลดลงจะกลายเป็นโรควัณโรคได้ องค์กรอนามัยของโลกและในประเทศไทยเห็นตรงกันว่าต้องค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรค 20 ล้านคน เพื่อยุติวัณโรคที่อาจเกิดขึ้นใน 16 ปีข้างหน้า โดยค้นหาจากผู้ป่วย 7 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้ต้องขังในเรือนจำ บุคลากรสาธารณสุข ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุ และแรงงานข้ามชาติ
ทั้งนี้ สมาคมฯ จะมีห้องปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพเป็นเลิศในภูมิภาคนี้ เพื่อวินิจฉัยวัณโรคให้ถูกต้อง และให้ความรู้กับประชาชนและบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะการสนับสนุนความรู้และวิทยาการให้แก่บุคลากรทางแพทย์ และพยาบาล มุ่งส่งเสริมและผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการป้องกันและรักษาวัณโรค โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทางกรุงเทพมหานครได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นในการทำไลน์กลุ่มเพื่อให้สถานพยาบาลติดตามและให้คำปรึกษาคนไข้เพื่อให้เขายังอยู่ในระบบการรักษา”
แพทย์หญิง อลิศรา ทัตตากร ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยวัณโรค 13,000 รายต่อปี ค้นพบได้ประมาณ 12,000 ราย และต้องค้นหาเพื่อนำมารักษาเพิ่มอีก 1,000 ราย การรักษาสำเร็จเพียง 77% มีผู้ป่วยขาดการรักษาต่อเนื่อง อาจจะแพร่เชื้อหรือถึงขั้นเชื้อดื้อยาด้วย ประมาณ 2,500 รายต่อปี รวมเป็นผู้ป่วยทั้งหมด 3,500 คน การรักษาแบบวิธี DOT (Directly Observed Treatment) อาจมีความยากลำบากเนื่องจากสภาพการจราจร คนไข้ทานยาไม่ครบหรือหยุดยาเองเนื่องจากผลข้างเคียงของยา จึงจำเป็นจะต้องให้ความรู้ในการทานยาต่อเนื่อง หาหมอสม่ำเสมอ มีระบบการตรวจสอบและติดตามคนไข้กลับมารักษา ทางกทม.จัดตั้งสายด่วน เบอร์โทรศัพท์ 02-860-8208 เพื่อให้คำปรึกษาในกรณีย้ายสถานพยาบาล เกิดผลข้างเคียงจากยา ค้นหาเวลาและสถานที่พบหมอ นอกจากนี้ ยังซึ่งมีไลน์กลุ่ม มีปัญหาสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ คุณหมอ และโรงพยาบาลได้เลย ซึ่งโอกาสที่คนไข้จะหายไปจากการรักษาจะน้อยลง คนไข้ก็จะประสบความสำเร็จในการทานยามากขึ้น”
“สิ่งที่ทำให้วัณโรคต่างจากโรคอื่นๆ คือไม่สามารถรักษาคนไข้ให้หายขาดได้ เนื่องจากในอดีตต้องทานยาวันละสิบๆ เม็ด คนไข้ทานไม่ครบหรือหยุดกินยาทำให้เป็นวัณโรคดื้อยา คิดเป็น 10% ของวัณโรคทั่วไป ต้องกินยาสองปีควบคู่ไปกับฉีดยา 6-8 เดือน และต้องระมัดระวังอย่างมากในการฉีดยาให้ถูกวิธี และถูกต้องกับน้ำหนักตัว เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น หูดับ ไตวาย บางคนเลยมีแนวโน้มที่จะรักษาไม่ครบเพราะการรักษาค่อนข้างยากและใช้ระยะเวลานาน แต่ในปัจจุบันมียารุ่นใหม่ที่ช่วยลดความยากลำบากของคนไข้และภาระค่ารักษาจากเดิมต้องทานยา 2 ปี หรือฉีดยา 6-8 เดือน ใช้ระยะเวลาสั้นลงเหลือ 9-10เดือน เพื่อค้นพบโรคให้เร็วขึ้น กรมควบคุมโรคได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้เทคโนโลยี AI ในการอ่านผลเอกซเรย์ทำให้ค้นพบคนไข้และรับการรักษาได้เร็วขึ้น กิจกรรมและการรณรงค์ต่างๆ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรคไปได้ 10% จาก 172 ต่อแสนคน เหลือ 156 ต่อแสนคน” แพทย์หญิง ผลิน กล่าวเสริม
ในส่วนของการสนับสนุนจากภาคเอกชน เภสัชกร วีรวัฒน์ มีแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และการเข้าถึงยา บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขและเป็นภาระของประเทศ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีความมุ่งมั่นที่ยาวนานในการให้การสนับสนุนงานสาธารณสุข ซึ่งเราได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากนี้ เรายังช่วยสนับสนุนการลดโรควัณโรคผ่านโครงการบริจาคยาที่ใช้รักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4ปี ใน 60 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยสามารถเข้าถึงโครงการนี้ เราร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องด้านวัณโรคองค์กรต่างๆ อาทิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กองวัณโรค กรมควบคุมโรค เพื่อให้การสนับสนุนการศึกษาด้านยา และโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องวัณโรค ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนและการจัดการวัณโรคดื้อยาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐในการขจัดวัณโรคให้หมดไปจากสังคมไทย”