เร่งแก้ 6 ปัญหาอุตสาหกรรมหนัง หวังไทยรักษาศูนย์กลางแฟชั่นในเอเชีย

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr +

นายสุวัชชัย วงษ์เจริญสิน ประธานกรรมการบริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหนัง เครื่องหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เป็นกลุ่มธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าธุรกิจอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวถึงวงการแฟชั่น ที่ผลิตภัณฑ์หนังและเครื่องหนังของไทยได้รับการยอมรับในมาตรฐานและคุณภาพของวัตถุดิบ รวมถึงมีกระบวนการตัดเย็บที่ปราณีตทันสมัย ทำให้แบรนด์สินค้าชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกให้การยอมรับเครื่องหนังไทย

อย่างไรก็ตาม พบว่า อุตสาหกรรมหนัง เครื่องหนังและผลิตภัณฑ์หนังยังมีปัญหาสำคัญๆ ที่ต้องแก้ไขอยู่ 6 ประการ ประกอบด้วย 1.การขาดความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมให้เกิดดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น 2.การขาดเครื่องมือในการผลิตที่ทันสมัย และขาดการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสินค้าประเภทหนังและเครื่องหนัง 3.ขาดแรงงานฝีมือในการออกแบบ ตัดเย็บ และประกอบ 4.ขาดแรงจูงใจ หรือการชี้นำตลาดใหม่ๆ ซึ่งผู้ประกอบการมีข้อจำกัดทางด้านการส่งเสริมการตลาด ขาดการรับรู้อย่างต่อเนื่องทำให้ลดความสำคัญของสินค้าไทยลง 5.ปัญหาทางด้านพิกัดภาษีนำเข้าและส่งออกบางรายการ และ 6. ปัญหาทางโครงสร้างธุรกิจ ในส่วนอุปกรณ์เพื่องานประกอบสินค้าที่จะทำให้ไม่สามารถออกแบบสินค้าได้หลากหลาย

 ทั้งนี้  กลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินงานดูแลทั้ง ส่วน คือ ส่วนที่เป็นภาคผลิต ได้แก่ หนังฟอกสำเร็จรูป และส่วนที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น กระเป๋า และผลิตภัณฑ์เครื่องหนังอื่นๆ โดยได้กำหนดนโยบาย ทิศทางการบริหารงาน การดำเนินโครงการ Fashion and Life Style การเป็นตัวแทนของนักธุรกิจเพื่อเจรจาร่วมกับภาครัฐและผู้แทนจากประเทศต่างๆ และยังวางนโยบายการกำหนดทิศทางให้แก่ธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพิจารณาเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ทางการค้า การผลิต เพื่อให้ไทยยังคงรักษาความเป็นศูนย์กลางแฟชั่นในเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ

 “ปัจจุบันทางกลุ่มได้มุ่งเน้นในเรื่องการปรับปรุงการบริหารงาน การปรับปรุงแรงงานและเน้นการเจรจาการค้ากับคู่ค้า ซึ่งเป็นการช่วยเหลือนักธุรกิจไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศให้สามารถดำเนินงานได้อย่างสะดวก ลดข้อจำกัดทางการค้า ปัญหาเรื่องภาษีต่างๆ และยังคงเป็นส่วนงานหลักที่ช่วยเหลือเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินการผลิต ปรับปรุงคุณภาพสินค้า เพื่อที่จะมีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องเริ่มตั้งแต่แนวความคิด การจัดการทางด้านการผลิต การพัฒนาสินค้าและระบบการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าที่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เข้าถึงลูกค้าในชีวิตประจำวันและเป็นสินค้าที่มีคุณสมบัติหลากหลายใช้งานได้หลายประเภท ทำให้ลดจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ และยังนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจในอนาคต” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า เดือนมกราคมปี 2562 พบว่า การส่งออกเครื่องหนังและรองเท้า มีมูลค่า 137.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.77 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มเครื่องหนัง มีมูลค่า 86.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.66 และ (2) การส่งออกกลุ่มรองเท้า มีมูลค่า 51.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.40

 

อ่านต่อ
Share.

Comments are closed.